Peru
บันทึกเล็กๆน้อยๆ กับการเดินทางไปเมืองที่อยู่อีกซีกโลกนึง
ที่จริงเราเขียนตั้งแต่ไปเที่ยวกลับมาแล้ว แต่ว่ายังทำรูปไม่เสร็จ ก็เลยดองไว้ก่อน ตอนนี้ก็ยังทำรูปไม่เสร็จเหมือนเดิม แต่ว่ามีพอจะเอามาเขียนบล็อกแล้วหละ
Part I – เรื่องเล็กๆน้อยๆ
1. ตั๋วเครื่องบินราคา 70,000 บาท และเดินทางรอบนึงหนึ่งวันเต็ม
ที่เลือกใช้เป็นของสายการบิน China Air (ขาไปครึ่งนึง) + KLM ที่เหลือ แวะพักที่อัมเตอร์ดัม (จองผ่านเว็บที่แปลว่าตั๋วถูก) จริงๆถ้าเลือกแยกระหว่างกรุงเทพฯ-อัมสเตอร์ดัม กับ อัมสเตอร์ดัม-ลิม่า อาจจะได้ถูกกว่า (ช่วงโปร) แต่ว่าก็ต้องทำวีซ่าทรานสิต และอาจจะต้องหาที่นอนที่อัมสเตอร์ดัมด้วย ก็อาจจะไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่
ส่วนการเดินทาง ก็ตีไปซะว่านั่งเครื่องครั้งละ 12 ชั่วโมง ขาไปนั่งสองรอบ ขากลับนั่งสองรอบ ก็ขาละหนึ่งวันเต็มๆ แถมด้วยเวลาที่ต่างกันอีก ทำให้ขาไปไปถึงวันเดียวกัน แต่ขากลับกินไปหนึ่งวันเต็ม
อ่อ ถ้าต้องเปลี่ยนเครื่องที่อัมสเตอร์ดัม (กรณีซื้อตั๋วแบบไม่แยก) ไม่ต้องขอวีซ่า แต่ถ้าเลือกไปเมกา ต้องขอวีซ่าด้วยนะ (เตรียมเงินยูโรไปหน่อย เผื่อซื้อของฝาก)
2. จอง Inca Trail ไว้แต่เนิ่นๆ*
เพราะว่าเค้าจะ limit ไว้วันละสองร้อยคน (จริงๆคือห้าร้อย แต่ตัวเลขนี้รวมลูกหาบกับไกด์ด้วย)
*ยกเว้นว่าไม่อยากเดินกันนะ มีทัวร์แบบนั่งรถไฟไป แต่แบบนั้นมาชูปิกชูก็มีจำกัดสองพันห้าร้อยคนต่อวัน
3. คิดให้ดีก่อนจะจอง Inti Rami
งานเทศกาลสำคัญของชาวอินคาที่มีหนึ่งปีครั้งนี่จริงๆมันควรจะดีนะ แต่ที่ไปกันแปดคนเห็นตรงกันว่ามันไม่ค่อยดี และไม่คุ้มราคาค่าทัวร์เลย ($200 ต่อคน) คืองานที่มันน่าจะขลังๆ แนวเดียวกับงานวันพืชมงคล กลายเป็นละครเวทีที่มีคนมาเต้นเยอะๆ ไม่รู้สินะ แต่เราอาจเห็นคุณค่าของงานไม่เหมือนกับคนอื่นก็ได้
4. ฉีดวัคซีนไข้เหลืองไปก่อน แม้ว่าจะไม่มีใครตรวจก็ตาม
เอาจริงๆแถบที่เราไปมาก็ไม่เสี่ยงต่อโรคนี้ แต่เพื่อความสบายใจและก็ปลอดภัย ก็ควรไปฉีดก่อนไปอย่างน้อยสิบวัน
5. ภาษาสเปนเป็นสิ่งสำคัญ
ดูที่สำคัญสุดคือการต่อราคารถแท็กซี่ในเมือง เพราะประเทศนี้ไม่มีมิเตอร์! (แต่เรื่องแท็กซี่ให้โรงแรมเรียกมักจะได้ราคาถูกกว่า แต่ถ้าเรียกจากร้านอาหารก็มักจะแพง)
6. เผื่อเงินสำหรับทิปด้วย
นี่เป็นเรื่องที่คนไทยคงไม่คุ้นเท่าไหร่ แต่ที่นี่ต้องมีการให้ทิปกันด้วยนะ ก็อย่างต่ำ 10% (กินร้านอาหารก็บวกกันสนุกสนาน)
7. เตรียมเครื่องกันหนาวไปดีๆ
อย่าเป็นอย่างข้าพเจ้า คือว่าเห็นว่าที่ Lima มันยี่สิบกว่าๆ ส่วน Cusco มันกลางวันสิบกว่าๆ กลางคืนเลขตัวเดียว ก็เลยเตรียมไปแบบคิดว่าตอนอยู่ Cusco คงไม่ได้ไปตอนกลางคืนมากหรอก สุดท้ายตอนกลางคืนศูนย์องศา ไม่สบายกลางทริป
อาหารการกิน
อยู่ในระดับ อร่อย จนถึง กินเกือบไม่ได้
ระดับอร่อยของข้าพเจ้าคือรสชาติเหมือนอาหารไทย… อย่างยำปลาดิบ (Ceviche) นี่ก็ใช้ได้เลย (อืม… ควรจะเรียกว่า Fusion ไทย-ญี่ปุ่นแล้วกัน)
อาหารเด่นประจำชาติคือ Cuy รสชาติคล้ายๆไก่ (ไม่บอกว่าชื่อภาษาไทยคืออะไร ลองหากันเอาเอง) มันเป็นอาหารที่ไม่ใช่จะกินกันบ่อยๆนะ เค้าจะกินกันในโอกาสพิเศษกัน
นอกจากนี่ ที่นี่ยังมีการกินมัน (อเมริกาใต้เป็นต้นกำเนิดของมัน ซึ่งมีกว่า 3000 ชนิด – แต่ที่เห็นจริงๆก็ไม่กี่สิบชนิดนะ) ข้าวโพด และข้าว (แบบแข็งๆ) ในจานเดียวกัน (เราไม่ชอบกินคาร์โบฯหนักๆ เวลาสั่งผิดแล้วได้จานแบบนี้มานี่ท้อเลย) แถมว่าบางจานก็จะมีกล้วยด้วย (กินเป็นอาหารคาวเลย)
ธัญพืชอีกอย่างที่ที่นี่เป็นแหล่งเพาะปลูกคือคินัว (Quinoa) อันนี้มีให้ลองในไทย บางคนอาจจะไม่ชอบรสสัมผัสมันเท่าไหร่ แต่เค้าว่านี่เป็นธัญพืชที่ให้คุณค่าทางโภชนาการเยอะทีเดียว

สลัด Quinoa
เครื่องดื่ม มี Chicha Morada เป็นประมาณน้ำข้าวโพดต้ม ใส่ซินนามอนกับเลมอน หอมๆเปรี้ยวๆดี เวลาสั่งก็ให้เน้นว่า Chicha Morada เพราะว่ามันมี Chicha อย่างอื่นเหมือนกัน แต่เป็นเบียร์นะ
ถ้าได้แวะสตาร์บัค ลองสั่งพวกกาแฟที่ใส่ Algarrobina ดู มันเป็นน้ำเชื่อมที่ทำมาจากน้ำในต้นไม้ ตอนที่ไปมันมีแบบเป็นลาเต้ ใส่เจ้าน้ำเชื่อมนี่ ผสมกับซินนามอน อร่อยมาก (แล้วพอซื้อน้ำเชื่อมนี่กลับมาชงที่ไทยก็ไม่สามารถทำให้มันอร่อยได้)
ที่นี่มีการกินใบโคคากัน (ซึ่งสามารถแปรรูปได้เป็นโคเคน) ส่วนมากเป็นรูปแบบของชา เค้าบอกว่ามันช่วยเรื่องของ Altitude Sickness ได้ แต่อันที่น่าจะเห็นผลกว่าคือกินแล้วจะไม่ค่อยหิวข้าวหิวน้ำเท่าไหร่ เพื่อความปลอดภัยกับด่านตรวจ ไม่ควรกินภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเดินทางออกนอกประเทศ (คือว่ามันมีเป็นปกติ ในโรงแรมก็มีกระติกชาโคคา ข้าพเจ้าก็ซดตลอดเวลา) และก็อย่าซื้อมาเป็นของฝากนะ
ของฝาก
ร้านของฝากก็มีตามสถานที่ท่องเที่ยวนะ แต่ของกระจุกกระจิกที่เราเห็นมันดูไม่ค่อยเป็นเปรูในความคิดซะเท่าไหร่ เลยหาของที่มันดูใช้งานได้ดีกว่า
- สิ่งทอจากขนอัลปากา (ถ้าเป็นตัวเด็กๆขนจะนิ่มกว่า) ราคาเสื้อสเว็ตเตอร์ในตลาดก็ประมาณ $100 แต่ก็จะมีพวก shop ทำหรูๆอยู่ (ไม่ได้เข้าไปดูนะ) ก็ซื้อจากในตลาดมาตัวนึง ขนนุ่มดี แต่มันทอแบบหลวมๆ เลยไม่ค่อยจะกันหนาวสักเท่าไหร่
- ผลิตภัณฑ์จากโกโก้ – ช็อคโกแลต ที่นี่ก็เป็นแหล่งส่งออกเมล็ดโกโก้แห่งหนึ่ง ส่วนตัวเราคิดว่ามันทำอร่อยอยู่เหมือนกัน อันนี้ซื้อได้ที่สนามบิน (มีให้ชิมด้วย) ซื้อโกโก้ชงมากล่องนึง ชอบมากจนอยากฝากคนอื่นซื้อมาให้อีก
- กาแฟ – เช่นเดียวกับโกโก้หละ
- เหล้า – มี Pisco เข้มประมาณวอดก้า บางที่มีขายเป็นขวดเล็กๆ (มีผสมมะนาว ผสม Algarrobina ด้วย)
ส่วนของฝากอย่างอื่นไม่ค่อยอินเท่าไหร่
แพลน
ทริปนี้เป็นทริปที่นานที่สุดของเราหละ ไปกันที่ครึ่งเดือนเลย อันนี้เพื่อนเป็นคนวางแผนให้ ข้างล่างเป็นตารางสรุปๆมาหละ
Date | Time | Place | Event | Stay |
Saturday, June 13, 2015
|
2:00 | BKK | Depart From BKK | Lima |
18:10 | Lima | Arrive Lima | ||
Sunday, June 14, 2015 | Whole Day | Lima | Lima city tour | |
Monday, June 15, 2015 | Whole Day | Lima | Lima city tour | |
Tuesday, June 16, 2015 | AM | Lima-Cusco | Fly from Lima to Cusco | Cusco |
PM | Cusco | Cusco city tour | ||
Wednesday, June 17, 2015 | Whole Day | Cusco | Sacred valley tour | |
Thursday, June 18, 2015 | Whole Day | Cusco | Moray tour | |
Friday, June 19, 2015 |
Inca trail
|
|||
Saturday, June 20, 2015 | ||||
Sunday, June 21, 2015 | ||||
Monday, June 22, 2015 | ||||
Tuesday, June 23, 2015 | AM | Inca trail | Cusco | |
20:00 | Cusco | Arrive at Cusco | ||
Wednesday, June 24, 2015
|
6:40-7:15 – Bus Pickup | Cusco | Inti Raymi (Sun festival) |
Sleeper Bus
|
17:00 | Cusco | Return to hotel, clean up | ||
22:00 | Cusco-Puno | Sleeper bus to Puno | ||
Thursday, June 25, 2015
|
5:30 | Puno | Arrive Puno at 530am |
Puno
|
Titicaca | Titicaca | Titicaca Tour | ||
Friday, June 26, 2015 | 6:00 – Bus pick up | Colca canyon tour | Colca Canyon Tour | Tour’s Arrangement |
Saturday, June 27, 2015 | 17:00 | Arrive Arequipa | Arequipa | |
Sunday, June 28, 2015
|
AM | Arequipa city tour | Santa Catalina monastery, Museo Santuarios Andinos | |
15:55-17:20 | Arequipa-Lima | |||
20:15 | Lima-> BKK | Check in 18:00 |
จริงๆแล้วจะมีอีก route นึงคือ Lima -> Nazca -> Arequipa -> Colca Canyon -> Puno -> Cusco อันนี้ก็ดูจะค่อยๆไต่ขึ้นไปแต่พอดีมีปัญหาเรื่องเวลากันทำให้ไม่ได้ไปตามแพลนนี้ (อีกอย่างไปดู Nazca Line นี่แพงมาก ต้องจ่ายคนละหมื่นกว่าบาทเลย)
Part II – สรุปทริปสั้นๆ
วันที่ 1 – เดินทางจากกรุงเทพไปลิม่า
ออกเดินทางคืนวันศุกร์ด้วยสายการบิน China Airline เพื่อไปต่อเครื่องที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปสู่เมืองลิม่า เมืองหลวงของเปรู ด้วยสายการบิน KLM (อาหารของทั้งสองสายการบินต้องลุ้นเพราะจะมีอย่างนึงโอเค อีกอย่างเกือบกินไม่ได้ แต่ชอบ KLM ตรงที่มีไอติมหละ)
ไปถึงหกโมงเย็น ไปเจอเพื่อนและเพื่อนของเพื่อน (มาจากเมกา) ที่สนามบินก่อน แล้วก็นั่งแท็กซี่ไปที่โรงแรม จากนั้นก็ออกมาหาของกิน แล้วก็กลับที่พัก
วันที่ 2 – เที่ยวตัวเมืองลิม่า ย่านจัตุรัสเมืองเก่า
เนื่องจากเดือนที่มามันเป็นช่วงงาน Inti Raymi พอดี (ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล กับวันที่กลางวันสั้นสุด) ดังนั้นตามเมืองต่างๆก็จะมีการจัดการเฉลิมฉลองกัน ที่ลิม่าจัดที่ย่านจัตุรัสเก่านี่หละ มีแห่ขบวน โชว์ชุดประจำท้องถิ่น ประกอบการเต้นไปด้วย กล้องข้าพเจ้าก็โฟกัสไม่ทัน (ตอนเขียนนี่ FW4.0 แล้ว มันคงถ่ายง่ายขึ้นหละ)
แล้วที่มาก็บังเอิญเป็นวันอาทิตย์ที่ตรงกับการเปลี่ยนกะทหารหน้าวังพอดีด้วย
ตอนบ่ายก็ไป Convento de San Francisco เป็นโบสถ์ที่มีพิพิธภัณฑ์ และก็มีสุสานใต้ดิน แล้วก็กลับที่พัก (Jet Lag กลางวันที่นี่เป็นกลางคืนของไทย ถ้าไม่เบลอก็ strong จริงๆ)
วันที่ 3 – เที่ยวตัวเมืองลิม่า
นั่งแท็กซี่ไปผาริมทะเล (คือตัวเมืองอยู่ริมทะเล แต่ว่าอยู่คนละระดับกัน) ซึ่งก็เป็นสวนสาธารณะชื่ออะไรที่เกี่ยวกับรักๆนี่หละ (El Parque del Amor – Lover’s Park)
แล้วจากนั้นก็เดินไป Choco Museum เป็นแนวร้านที่มีโชว์วิธีการทำช็อคโกแลต มีขนมให้สั่งกินและซื้อกลับด้วย (ซึ่งสั่งช็อคโกแลตร้อนแบบปรุงเองแต่ปรุงแล้วไม่อร่อย – น่าจะเป็นความผิดของข้าพเจ้าเอง)
แล้วก็ไปปิระมิด Huac Pucllana ยุคก่อนชาวอินคา เป็นปิระมิดดินเหนียว ที่ตั้งอยู่ในเมืองลิม่าเลย
จากนั้นก็กินข้าวกลางวัน แล้วก็ไปน้ำพุ Parque de la Reserva ที่เค้าบอกว่าสวย ซึ่งมันปิดวันที่ไปกัน สุดท้ายก็เลยไปห้างซื้อของนู่นนี่ๆ กิน แล้วก็กลับที่พัก
วันที่ 4 – ไปคุซโค่
ตื่นเช้าเพื่อนั่งเครื่องบินไปเมืองคุซโค่ ที่เป็นเมืองเก่าของชาวอินคา (แต่ก็โดนสเปนบุกและก็ทำลายไปเยอะเหมือนกัน)

วิวด้านซ้ายเป็นเทีอกเขาแอนดิส (รู้จักแต่ชื่อมานาน ได้เห็นของจริงก็วันนี้หละ) – เพื่อความเข้าใจไม่ผิด ในรูปคือภูเขาในเทือกเขานะ
การมาช่วงนี้ก็จะเป็นเทศกาลเหมือนที่ลิม่า มีขบวนแห่กันทุกวัน วันนี้ก็อยู่แถวๆจัตุรัสกลางเมืองนี่หละ ตอนบ่ายแวะไปบริษัททัวร์ ไปจัดการเรื่องทัวร์ ตอนกลางคืนก็ออกมาถ่ายรูปเล็กน้อย
วันที่ 5 – Sacred Valley
วันนี้ออกนอกเมืองตามที่ได้จองทัวร์ไป ก็ไปประมาณนี้
- Sacsayhuaman – เป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใกล้ๆ Cuzco และก็เป็นสถานที่จัดงาน Inti Rami
- แวะฟาร์มตัวอัลปากา+ลามะ
- เมือง Pisac มีตลาดให้ซื้อของ (แต่เทียบราคาเสื้อยืดแล้ว ที่ Arequipa ถูกกว่าหน่อย) ได้เสื้อ sweater ขน Baby Alpaca มาตัวนึง
- แล้วก็ไปไร่ขั้นบันไดของชาวอินคา (Pisac Ruins)
- ตอนเย็นกลับมาซื้อทัวร์ดูดาวทางฝั่งซีกโลกใต้ (ซึ่งตอนนี้ก็ลืมหมดแล้ว) กว่าจะได้กินข้าวก็สองทุ่ม
วันที่ 6 – Morey
วันนี้ออกจากเมืองไกลกว่าวันแรก (จริงๆน่าจะสลับกัน)
- Morey – แปลงทดลองปลูกพืชของชาวอินคา (แต่ละขั้นบันไดใช้วิทยาการปรับอุณหภูมิให้ไม่เท่ากันด้วยนะ)
- แล้วก็ไปเหมืองเกลือริมหุบเขา (Maras Salt Mines)
- เมืองหน้าด่านทางก่อนไปมาชูปิกชู (Ollantaytambo)

และอย่าลืมหาสิ่งนี้ – Head of Wiracocha – เทพเจ้าในความเชื่อของแถบแอนดิส
- แล้วก็แวะร้านเครื่องทอก่อนจะกลับคุซโค่ (ซึ่งก็ช้าไปเกือบชั่วโมง)
จากนั้นก็ไกด์ที่จะนำเราเดิน Inca Trail ก็มาสรุปสิ่งที่ต้องเตรียมตัว พร้อมกับแจกกระเป๋าให้แพ็คของ
วันที่ 7-11 – Inca Trail
สี่วันแรกเดิน Inca Trail ไปถึงมาชูปิกชู แล้วก็ไปนอนที่ Aguas Calientes ก่อนที่จะตื่นเช้ามาดูพระอาทิตย์ขึ้นที่มาชูปิกชูอีกรอบ ก่อนจะนั่งรถไฟกลับไปคุซโค่ตอนเย็น (รถไฟก็ดันเสียอีก ช้ากว่ากำหนดไปอีก)
รีวิวสั้นๆ – เป็นทางเดินเขาที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ทางเดินก็เป็นทางจริงที่ชาวอินคาได้ทำไว้ ถ้ามีเวลาและร่างกายพร้อมก็น่าสนใจนะ
ข้อแนะนำ
- ไม่มีการอาบน้ำระหว่างเดินเขา
- การกินขึ้นกับทัวร์ แต่อาหารดีมาก
- ทัวร์ที่เลือกเป็นทัวร์ที่ถึงมาชูปิกชูตอนบ่ายๆ แล้วมาดูอีกค่อนวัน จริงๆจะมีทัวร์ที่ไปถึงตอนเช้านะ แต่เดินโหดกว่า
- ถึงแม้ว่าจะไม่ยากมาก แต่ก็ต้องฟิตร่างกายมาให้ดี
- เตรียมทิปกันให้พร้อม

เช้าวันที่สี่ หลังจากเมื่อคืนเมฆเยอะจนถ่ายดาวไม่ได้ (จริงๆจุดนี้เหมาะกับการถ่ายดาวมาก – ข้ออ้างอีกอย่างคือมันหนาวมาก ใส่เสื้อทุกตัวที่แบกมาเลย)

แล้วเราก็มาถึง Sun Gate ที่เราได้ยลโฉมมาชูปิกชูเป็นครั้งแรก (แต่อารมณ์เราจริงๆคือเฉยๆหละนะ เจอสิ่งก่อสร้างมาหลายที่ – แต่นี่ก็อลังการสุด)

Aguas Calientes เป็นเมืองท่องเที่ยวจ๋า เพราะเป็นที่พักแห่งเดียวถ้าจะมามาชูปิกชู แต่ในหัวตอนนั้นคือต้องการโรงแรม ต้องการน้ำอุ่นแล้ว
วันที่ 12 – Inti Rami
วันสำคัญ เป็นวันเริ่มการเข้าสู่หน้าหนาว ชาวอินคาก็จะมีการการทำพิธีกรรมบวงสรวงพระอาทิตย์… รวมไปถึงการบูชาลามะด้วย
งานจะมีจัดที่ Temple of Sun, ก่อนจะไปที่จัตุรัสกลางเมือง แล้วไปเป็นงานใหญ่ที่ Sacsayhuaman
แต่งานมันจัดแบบละครเวทีมากๆ คือมันแสดง (มีกษัตริย์ปลอมๆ หัวหน้าพระปลอมๆ มาพูดบทที่มีสคริปไว้อยู่แล้ว) พร้อมอุปกรณ์ประกอบฉากแบบไม่เนียน (เวทีกลางลานเป็นคอนกรีตที่ทำให้เป็นเหมือนหิน แต่อารมณ์แบบดูยังไงก็เป็นคอนกรีต) คือถ้าดูตามบท นี่คือว่ามันจะต้องมีการพยากรณ์ความสมบูรณ์ของพืชผล โดยดูจากของนู่นนี่ เหมือนๆกับพืชมงคล แต่ว่าทุกอย่างเป็นสคริป ไม่มีอารมณ์ลุ้นแบบว่าพระโคจะกินอะไร มันเลยดูไม่ขลังเท่า อ่อ ของเราก็พราหมณ์จริงๆ [ปล. เมืองไทยบังเอิญมีอะไรให้เปรียบเทียบ เลยขอจัดหนักนะ] ที่สำคัญ ที่นี่มีที่นั่งให้ชาวต่างชาติดู (ที่ Sacsayhuaman; ส่วนที่อื่นต้องเบียดๆ แย่งๆกันหาที่เอง) แล้วตั๋วเก็บซะแพงเกิน แถมทัวร์ที่จองไกด์กินดีกว่าลูกทัวร์ (Americana de Turismo – จำไว้เลยนะ)
สรุปว่าวันนี้นั่งโดนแดดโดนลม ไม่สบายหนัก
ตอนเย็นป่วยแบบอดซื้อของฝาก แล้ววันนี้ก็ต้องนั่งรถบัสข้ามคืนไป Puno ด้วย

งานเริ่มที่ Temple of Sun – จุดนี้ยกกล้องขึ้นเหนือหัวแล้วถ่ายรูปมา เพราะคนแน่นมาก (รูปที่เห็นกับประสบการณ์ที่ได้จริงคนละอารมณ์กันนะ)
วันที่ 13 – Lake Titicaca
วันนี้นั่งรถมาถึงเมือง Puno ที่เป็นเมืองติดทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่และสูงที่สุด (ไม่รู้ว่าเทียบกับอะไร) แต่ก็ใหญ่จริงๆหละ
วันนี้จองทัวร์ Lake Titicaca เอาไว้ (จริงๆจองแบบไม่ได้จ่ายเงิน – สามารถตัดสินใจนอนป่วยอยู่ที่โรงแรมได้) แต่ไหนๆมาแล้วก็ต้องไปหละ
ทัวร์เป็นประมาณว่านั่งเรือไปเกาะกลางทะเลสาบ ไกด์ก็จะพูดๆความเป็นมาของทะเลสาบ ชีวิตและประวัติศาสตร์ของผู้คนที่อยู่ที่นี่ แล้วก็นั่งเรือไปอีกประมาณสองเกาะ (ตอนนี้ป่วย ขึ้นเรือก็หลับ) มีไปกินอาหารพื้นเมืองด้วย สุดท้ายก็ไปเกาะที่คนสร้างเองจากหญ้า ก่อนกลับเข้าฝั่ง
พอถึงโรงแรมก็ไข้ขึ้นเต็มที่ จนเพื่อนๆต้องมาเช็ดตัวให้ (อนาถสุดในรอบหลายปีหละ) รู้เลยว่าถ้าป่วยแล้วฝืน trek นี่ตายอย่างเดียวแน่ๆ นี่โชคดีที่ป่วยหลังจากเดิน Inca Trail มาแล้วนะ
วันนี้ถ่ายไป 30 รูป
วันที่ 14 – Colca Canyon Tour
วันนี้อาการดีขึ้นหละ แต่ว่าก็ต้องย้ายเมืองกันอีกแล้ว
คราวนี้เป็นทัวร์สองวันหนึ่งคืน (รวมโรงแรม) เพื่อไปดูแร้งที่ Colca Canyon อีกวัน วันนี้ก็เป็นการเดินทางเพื่อไปเมืองใกล้ๆ Colca Canyon ก็ผ่านทะเลสาบที่มีนกฟลามิงโก ผ่านจุดชมวิวที่เห็นภูเขาไฟสี่ห้าลูกรอบทิศทาง
ตอนเที่ยงก็มาถึงเมือง Chivay แล้วตอนบ่ายก็เดินดูวิวนิดหน่อย (มีไร่ขั้นบันไดที่เค้าบอกว่าทำมาตั้งแต่ยุคก่อนอินคาอีก) ตกเย็นก็ไปแช่น้ำพุร้อน (เป็นสระน้ำ ไม่ใช่ออนเซ็น)
วันที่ 15 – Coca Canyon Tour – Arequipa
วันนี้ได้ไป Coca Canyon จริงๆ แต่ก็เป็นแค่ส่วนติ่งๆของมันหละ เพื่อจะมาดูแร้ง ทางไปก็วิวสวยดี ไปถึงจุดชมแร้งก็เจอสี่ห้าตัว บินโฉบไปมา (ซึ่งกล้องเรา+เลนส์เทเลก็วืดตลอดเวลา)
แล้วก็นั่งรถไปเมือง Arequipa (ชอบใจกลางเมืองนี้รองๆจาก Cusco เลย มันสวยดี มีอะไรดูน่าเที่ยวเยอะว่าลิม่าด้วย)
ถึงก็เกือบๆเย็นแล้ว ก็เดินไปแถวๆจัตุรัสกลางเมือง ถ่ายรูปเล่น หาของกิน (ร้าน Chi Cha – อร่อยอยู่เหมือนกัน)
อ่อ เมืองนี้ถ้าหามุมดีๆได้ จะได้ฉากหลังเป็นภูเขาไฟทรงเดียวกับฟูจิเลย (แต่ข้าพเจ้าไม่มีแรงหามุมดีๆนั้นได้)
วันที่ 16 – Arequipa เที่ยวพิพิธภัณฑ์ ก่อนกลับไทย
ตอนเช้าก็ตื่นไปดูตลาดของที่นี่ (มีร้านขายขนมปังเยอะมาก)
แล้วก็ไปพิพิธภัณฑ์ The Museo Santuarios Andinos ที่แสดงมัมมี่ที่ชาวอินคาเค้าไปบูชา (พร้อมๆกับฝัง) ที่ภูเขาไฟ ก็ได้เห็นมัมมี่เด็กของจริง (จริงๆคือโดนฝังแบบไม่ได้ทำมัมมี่ แล้วพอดีอากาศมันเย็น เลยคงสภาพไว้) ก็จะมีจัดแสดงพวกของที่ติดตัวเด็กที่ถูกบูชา มีทั้งเครื่องทอง เสื้อผ้าอะไรแบบนี้ แต่เค้าห้ามถ่ายรูปมานะ
แล้วก็ไปดูสำนักแม่ชี (The Monasterio de Santa Catalina – เหมือนหมู่บ้านแบบย่อมๆ)
กินมื้อสุดท้าย (ร้าน Zig Zag – ก็อร่อยเช่นกัน) ก่อนจะบินกลับลิม่า เพื่อเปลี่ยนเครื่องกลับไทย
วันที่ 18 – ถึงไทย
ถึงประเทศไทยด้วยอาการป่วยและ Jet Lag ไปอีกสัปดาห์กว่าๆ (อดกินติ่มซำที่บริษัทเลี้ยงวันนั้น T.T)
(ไม่มีวันที่ 17 เพราะ Time Zone)
งบ
ตอนแรกเราก็คิดว่าไม่แพงมากหรอก แต่ว่าไปๆมาๆก็กินดีอยู่ดีกันเกือบทุกมื้อ (ราคาอาหารตามร้านอาหารดีๆก็ไปได้ถึง 300-600 บาทหละ) บวกกับราคาทัวร์ ราคาตั๋วเครื่องบินในประเทศ โรงแรมก็ไม่ใช่โฮลเทล สรุปสุดท้ายก็ตีไปเจ็ดหมื่นบาทไทย (ถ้ามีบัตรนักศึกษาก็ลดค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้เยอะ)
สิริราคารวมก็ประมาณ 140,000 บาท
-รภรัตน์
เขียนเสร็จก็เหมือนยกภูเขาออกจากอก
ปล. ไม่เขียนสรุปนะ แต่เราว่าไปประเทศแถบนี้ควรจะอาศัยอยู่เมกามากกว่า นอกจากจะมีเงินพอ และวันลาพอ
ปล2. ก่อนไป ถกเถียงกันกับเพื่อนๆว่า ต้องเอาเป้แบ็คแพ็คไปกันหรือเปล่า แล้วสรุปว่าเอาไปกัน แต่พอไปถึงที่นั่นจริงแล้วเห็นเพื่อนของเพื่อนลากกระเป๋าใบใหญ่ๆไป ก็ได้ข้อสรุปว่าถ้าไม่ได้ตั้งใจลุยตลอด นั่งแท็กซี่บ้าง เอากระเป๋าเดินทางไปก็ดีกว่าหละ อย่างน้อยก็ยัดของฝากได้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวแตก
- Herman Miller Aeron Chair - 11 Apr 2020
- อัพเดทของเล่น ณ ตอนนี้ - 19 May 2019
- #หมดpassion - 10 Nov 2018